วันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558

กระบี่กระบอง

ความรู้ทั่วไป  
 กระบี่เป็นอาวุธหลักชนิดหนึ่งของทหารไทยตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งใช้สำหรับฟันและแทงศัตรูในการต่อสู้ระยะประชิดตัวในสมัยก่อน เช่น ในสมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา หรือแม้แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น การรบกันแต่ละครั้งจะยกพวกเข้าตะลุมบอนกัน อาวุธที่ใช้จึงเป็นอาวุธที่ใช้ในระยะประชิดตัว  คนไทยสมัยก่อนรู้จักใช้กระบี่กระบองเป็นอาวุธในการสู้รบ และในยามสงบก็ใช้การร่ายรำและการต่อสู้ด้วยกระบี่กระบองเป็นการออกกำลังกายเพื่อความแข็งแกร่งและเป็นการกีฬาเพื่อการต่อสู้แข่งขัน คล้ายกับเป็นการจำลองการรบ วัสดุที่ใช้ทำกระบี้ก็หาได้ง่าย ส่วนใหญ่นิยมใช้หวายมาทำเป็นกระบี่ ดาบ ง้าว พลอง ส่วนเครื่องป้องกันก็จะใช้หนังสัตว์เช่น หนังวัว หนังควาย มาทำเป็นโล่ เขน ดั้ง นิยมเรียกการต้อสู้ด้วยกระบี่ว่า การตีกระบี่การแข่งขันตีกระบี่ก็จะตีกันเป็นคู่ๆ ดุจการสู้รบกันในสนามรบแบบตัวต่อตัว มีทั้งการรุกและการรับไปในตัว ฝ่ายใดพลาดท่าเสียทีก็จะเจ็บตัวไป นอกจากโล่ เขน ดั้ง เป็นเครื่องหรือเกราะป้องกันตัวแล้ว ตามลำตัว แขน ขา หรือศีรษะจะไม่มีเครื่องป้องกันใดๆ เสื้อผ้าที่สวมใส่มักเป็นผ้าด้ายดิบย้อมสีเข้ม (มักนิยมสีแดง) ตัดเป็นกางเกงขาสามส่วน เสื้อกั๊กลงอาคมหรือลงยันตร์ แม้แต่ตามเนื้อตัวหรือแขนจะสักรอยสักเป็นรูปต่างๆ เพื่อความสวยงามและคงกระพัน อาจมีปลอกรัดต้นแขนลงอาคมอีกก็ได้ ตามหลักฐานไม่ปรากฏชัดว่าใครเป็นผู้ริเริ่มการเล่นกระบี่กระบอง หรือมีการถ่ายทอดการเล่นในสมัยใด แต่จากประวัติศาสตร์ของชาติไทยจะเห็นว่าพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในการใช้อาวุธแบบไทยๆ เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมิใช่แต่จะทรงพระปรีชาสามารถในการใช้พระแสงของ้าวรบ และฆ่าพระมหาอุปราชาบนหลังช้างแต่อย่างเดียวไม่ ในเชิงดาบพระองค์ยังทรงชำนาญมิใช่น้อย ได้เคยต่อสู้และฆ่ามังกะยอดินด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองด้วย   ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์เป็นชาตินักรบมาช้านานแล้ว ความเก่งกล้าสามารถของพระมหากษัตริย์มักจะสะท้อนให้เห็นถึงความเก่งกล้าของพสกนิกรด้วย ประกอบกับในสมัยก่อนไทยเรามักมีการทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่เนืองๆ หน้าที่รบเป็นหน้าที่ประจำอันสำคัญ ชายทุกคนจะต้องเป็นทหาร แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังทรงถือว่าเป็นพระราชกิจที่จะต้องปฏิบัติดุจทหารของพระองค์ด้วยเหมือนกัน เช่น พระเจ้ารามคำแหงมหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นต้น
                   เนื่องจากผู้ชายทุกคนต้องรบเป็น คือ มีความสามารถที่จะใช้อาวุธประชิดที่ตนถนัดเข้าทำการประหัตประหารข้าศึกได้ทุกเมื่อ ดังนั้น เมื่อชาติเรียกร้องให้ไปทำการรบ ณ ที่ใด เมื่อใดแล้ว ทุกคนต้องพร้อมที่จะรับใช้ชาติด้วยความเต็มใจเสมอ แม้การส่งหมายเกณฑ์จะเป็นการลำบาก การคมนาคมไม่สะดวกแต่ถ้าเพื่อชาติแล้วทุกคนจะพร้อมทำศึกได้ทันที เมื่อเข้าสู่กองทัพ ทหารใหม่เหล่านี้มีความรู้ความชำนาญในการสู้รบแบบตะลุมบอนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทั้งยังมีอาวุธที่ตนถนัดนำติดตัวมาด้วย ทางบ้านเมืองก็ไม่ต้องเสียเวลาฝึกหัดมากนัก อีกทั้งไม่สิ้นเปลืองอาวุธยุทธภัณฑ์ เพียงแต่จัดหมวดหมู่ตามชนิดของอาวุธ แต่ละหมวดหมู่ก็จะมีนายหมวดนายหมู่ซึ่งส่วนมากเป็นคนสังกัดในพระตำรวจหลวงเป็นผู้ควบคุม
การที่บ้านเมืองไว้วางใจในฝีไม้ลายมือเกี่ยวกับการรบของทหารไทยในครั้งนั้นอย่างเต็มที่โดยไม่ห่วงการฝึกก่อนการรบนั้น เพราะมีความเชื่อมั่นว่าทหารเหล่านี้ได้รับการฝึกอบรมมาจากครูบาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในการใช้อาวุธประชิดเป็นอย่างดี สามารถเอาชัยชนะแก่ข้าศึกได้ นอกจากนี้ยังเชื่อใจในอาวุธยุทธภัณฑ์ประจำตัวว่าดีสมเป็นอาวุธคู่มือ เช่น ดาบก็ทำด้วยเหล็กอย่างดี มั่นคงแข็งแรง ไม่หักหรือหลุดมือง่าย ครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนวิชานี้คงมีอยู่ทั่วไป ศิษย์จึงมีอย่างแพร่หลาย สามารถระดมทหารได้ทันที ครูบาอาจารย์ดังกล่าวมักจะเป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถในสมัยที่ยังเป็นหนุ่ม เมื่ออายุมากเข้าจึงไม่อยากให้วิชาที่ตัวเองเชี่ยวชาญสูญหายไป จึงได้มีการตั้งสำนักดาบและถ่ายทอดวิชาดังกล่าวให้กับคนรุ่นหลังเพื่อให้เป็นมรดกของคนไทยสืบทอดต่อๆ กันไป  ครั้งโบราณการสงครามเกิดขึ้นบ่อยๆ จนกระทั่งผู้ชายต้องเป็นทหารกันตลอดชีวิต อุทิศชีวิตให้เป็นชาติพลี เมื่อเป็นเช่นนี้เขาก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะเป็นนักรบที่ดี มีสมรรถภาพที่เข้มแข็ง จนเป็นที่ไว้วางใจของชาติได้ และเพื่อรักษาความเข้มแข็งแห่งกองทัพอันเป็นหน้าที่ประจำของเขา จึงจำเป็นที่เขาจะต้องมีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ แต่เมื่อถึงคราวรบก็สามารถรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้นเขาจึงยึดคติพจน์ที่ว่า ยามศึกเรารบ ยามสงบเราเตรียมพร้อมการเตรียมพร้อมก็คือการฝึกฝนการใช้อาวุธต่างๆ ให้มีความชำนาญมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการอบรมยุทธศาสตร์ในการรบเพื่อให้ได้เปรียบเหนือคู่ต่อสู้ อันจะนำมาซึ่งชัยชนะการการศึกนั่นเอง  วิชากระบี่กระบองได้เฟื่องฟูมากในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงโปรดปรานวิชากระบี่กระบองมากเป็นพิเศษ ถึงกับให้พระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ทรงฝึกหัดวิชากระบี่กระบอง และได้แสดงการต่อสู้ด้วยกระบี่ พลอง ง้าว และ ดาบสองมือในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นสามเณรตามพระราชประเพณี   การเล่นกระบี่กระบองได้แพร่กระจายไปสู่หมู่ประชาชน มีการฝึกฝนฝีมือกันอย่างกว้างขวาง โดยมีวัตถุประสงค์ทั้งเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมไว้ในยามศึกสงคราม และเพื่อการแสดง ในสมัยรัชกาลที่ 4 นี้ ในหมู่ประชาชนมักจะจัดให้มีการแสดงกระบี่กระบองในงานประเพณีต่างๆ เช่น พิธีโกนจุก งานบวช หรือแม้แต่งานทอดกฐิน เป็นต้น
                   ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงโปรดปรานการเล่นกระบี่กระบองมาก ได้ฝึกฝนการฟันดาบกับหลวงพลโยธานุโยค รวมทั้งทรงฝึกฝนวิชามวยไทยด้วย พระองค์ทรงโปรดฯ ให้มีการตีกระบี่กระบอง และชกมวยไทยต่อหน้าพระที่นั่งในงานสมโภชต่างๆ อยู่เนืองๆ พร้อมทั้งพระราชทานรางวัลให้แก่ผู้แสดง ในสมัยนี้เองได้เกิดสำนักดาบขึ้นหลายแห่ง รวมทั้งค่ายฝึกฝนมวยไทยด้วยในสมัยรัชกาลที่ 6 การเล่นกระบี่กระบองลดน้อยลงมาก แต่ก็พอยังมีการแสดงบ้างในบางโอกาส โดยเฉพาะในงานสมโภชหรืองานประเพณีต่างๆ ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดวิชานาฏศิลป์ และทรงเข้าพระทัยในวิชากระบี่กระบองก็ตาม แต่ก็ไม่โปรดปรานเท่ากับพระราชบิดาของพระองค์ ถึงกระนั้นก็ยังมีการจัดแสดงกระบี่กระบองถวายทอดพระเนตรเป็นครั้งคราว อย่างเช่นในปีพุทธศักราช 2460 และปี 2462 กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน) ได้จัดให้มีการแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปี ได้จัดให้มีการแสดงกระบี่กระบองขึ้นถวายทอดพระเนตรที่สนามหน้าสามัคยาจารย์สมาคม ในการแสดงทั้งสองครั้งนี้ ท่านอาจารย์นาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา ได้แสดงถวายทอดพระเนตรทั้งสองครั้ง โดยครั้งแรกแสดงง้าว ครั้งหลังแสดงพลอง ในสมัยนี้ความนิยมในการเล่นกระบี่กระบองลดน้อยลง แต่ประชาชนได้หันไปนิยมในกีฬามวยไทยมากขึ้น เช่น สมัยที่มีการจัดการแข่งขันมวยไทยเก็บเงินค่าผ่านประตูขึ้นที่สนามสวนกุหลาบวิทยาลัย เพื่อนำรายได้ซื้ออาวุธให้กับกองเสือป่า ก็เป็นที่สนุกสนานและครึกครื้นอยู่พักหนึ่ง    ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 การเล่นกระบี่กระบองแทบจะสูญหายไป นับเป็นช่วงที่วิชากระบี่กระบองตกต่ำที่สุด แต่ก็ยังมีการฝึกฝนอยู่บ้างบางสำนัก ส่วนใหญ่เป็นการฝึกฝนเพื่อการอนุรักษ์ เพื่อสุขภาพ และเพื่อการแสดงบ้างตามโอกาส  ท่านอาจารย์นาค         เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นผู้หนึ่งที่ได้เล่าเรียนวิชากระบี่กระบองมาตั้งแต่เด็กและเป็นผู้ที่รักในศิลปะของวิชากระบี่กระบองอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านได้แลเห็นต่างชาติภูมิใจในศิลปะประจำชาติของเขา เช่น เยอรมันภูมิใจในวิชาฟันดาบ ญี่ปุ่นภูมิใจในวิชายูโด ยิ่งทำให้ท่านรักบูชาในวิชากระบี่กระบองมากยิ่งขึ้น ในโอกาสที่ท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนพลศึกษากลาง ท่านได้ทดลองสอนวิชากระบี่กระบองเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2478 ทดลองอยู่หนึ่งปี ได้ผลเป็นที่น่าพอใจของผู้ใหญ่ในวงการศึกษา จึงได้บรรจุวิชากระบี่กระบองเข้าไว้ในหลักสูตรประโยคครูผู้สอนพลศึกษาเมื่อปี 2479 นับตั้งแต่นั้นมาก็ได้มีการเล่าเรียนและสำเร็จมากขึ้นตามลำดับจนกระทั่งในปี 2486 มีผู้สำเร็จหลักสูตรครูผู้สอนพลศึกษาและสอบไล่ได้จำนวน 117 คน   เมื่อผู้ที่สำเร็จการศึกษาออกไปรับราชการเป็นครูผู้สอนพลศึกษาตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ได้พยายามนำวิชากระบี่กระบองไปเผยแพร่ และเป็นที่สนใจของประชาชนชาวไทยเป็นอย่างมาก จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ได้มีการบรรจุเข้าไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนทั่วไป จึงนับได้ว่าวิชากระบี่กระบองได้รับการอนุรักษ์ ไม่สูญหายไปจากโลกนี้แล้ว คงจะเจริญก้าวหน้าเอาไว้อวดหรือแสดงความเป็นเจ้าของในวิชาการแขนงนี้ได้ในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น